Digital Addiction: หรือเรากำลังเสพติดดิจิทัล?

ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา  โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ช่วยให้เราสามารถติดต่อสื่อสาร ค้นหาข้อมูล ทำงาน และความบันเทิงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากเกินไป  อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ และหน้าที่การงาน  ภาวะนี้เรียกว่า “การเสพติดดิจิทัล”

การเสพติดดิจิทัล  กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม  โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น บทความนี้  มุ่งหวังที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับ การเสพติดดิจิทัล เพื่อให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างชาญฉลาด  และไม่ส่งผลเสียต่อชีวิตของเรา

  • สัญญาณเตือน ของการเสพติดดิจิทัล
  • ผลกระทบ ของการเสพติดดิจิทัล
  • แนวทางการป้องกัน การเสพติดดิจิทัล

เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะพลเมืองดิจิทัลที่น่าสนใจคลิก Digital Citizenship ทักษะพลเมืองดิจิทัล


Digital Addiction การเสพติดดิจิทัล คืออะไร

การเสพติดดิจิทัล หมายถึง ภาวะที่บุคคลใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือวิดีโอเกม อย่างมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ สุขภาพ และหน้าที่การงาน การเสพติดดิจิทัลสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายด้านของชีวิต เช่น

1. การใช้งานโทรศัพท์มือถือ:

การใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยครั้ง และติดต่อกับโลกออนไลน์เป็นประจำอาจทำให้เราพลาดโอกาสในการสื่อสารและสัมผัสกับคนรอบข้าง จนเกิดความเคยชินที่จะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในยุคที่การติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมทุกอย่างผ่านโทรศัพท์มือถือ

2. การใช้งานโซเชียลมีเดีย:

การเสพติดกับโซเชียลมีเดีย และการแชร์ชีวิตส่วนตัวอาจทำให้เราเสียเวลาอยู่ในโลกเสมือน มากจนเกินไป ด้วยการออกแบบ และสังคมออนไลน์ที่น่าดึงดูดใจทำให้เราใช้เวลาอยู่กับสื่อโซเชียลมากเสียจนเกิดอาการหงุดหงิดเมื่อไม่ได้เข้าใช้งานได้

3. การเล่นวิดีโอเกม:

เกมออนไลน์เป็นสื่อความบันเทิงที่เข้าถึงง่าย และเป็นที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน เกมออนไลน์มักออกแบบให้เราใช้เวลา และหมั่นแจ้งเตือนให้เราเข้าใช้งานอยู่เสมอ โดยเฉพาะเกมออนไลน์ที่มีการเล่มร่วมกันมักจะทำให้ผู้เล่นสนุกเพลิดเพลินไปกับการเล่นเกมจนละเลย หรือมองข้ามที่จะทำกิจกรรมรูปแบบอื่นได้ และอาจถึงขั้นลดความสามารถในการควบคุมเวลาได้อย่างเหมาะสม

4. การทำงานออนไลน์:

อาจเป็นกิจกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคดิจิทัลที่จะต้องทำงานผ่านหน้าจอตลอดทั้งวัน พฤติกรรมที่ทำงานออนไลน์ตลอดเวลาอาจส่งผลให้เราติดจอ หรือมีความกังวลเมื่อไม่ได้อยู่หน้าจอได้


สาเหตุที่นำไปสู่การเสพติดดิจิทัล

คุณลักษณะต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบที่สามารถนำไปสู่พฤติกรรมของการเสพติดดิจิทัลได้ 

  1. การเสริมสร้าง: เทคโนโลยีดิจิทัลออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น และความสนใจสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ซึ่งความรู้สึกอยากรับรู้สิ่งใหม่นี้เป็นผลจากการหลั่งสารโดปามีน ที่ทำให้รู้สึกพึงพอใจทุกครั้งที่ได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ เราจะพบได้จากการใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียที่คอยกระตุ้นให้เราเลื่อนจอเพื่อค้นหา ค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา
  2. การหลีกหนี: บางคนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อหนีปัญหา หรือความเครียดในชีวิตจริง แม้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ ที่ได้เปิดหน้าจอดูโซเชียล หรือเล่นเกมจบ ก็เพียงพอแล้วที่จะหลีกหนีจากความเป็นจริงได้ นำมาซึ่งทางออกที่ชวนให้หลบหนีทุกครั้งเมื่อเผชิญความเครียด
  3. การยอมรับ: เมื่อทุกคนอยู่หน้าจอเราจะหลีกเลี่ยงได้หรือ? บางคนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน จากกลุ่มคนสังคมที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือปฏิสัมพันธ์ จนกลายเป็นเครื่องมือเชื่อสัมพันธ์ชั้นดี
  4. ความสะดวก: แก้เก้อ ลดความรู้สึกเบื่อหน่าย หรือระหว่างรอรถ รอลิฟท์ เทคโนโลยีดิจิทัลพกพาสะดวก ใช้งานง่าย สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมที่จะถูกหยิบขึ้นมาเปิดจอ จนกระทั่งติดเป็นนิสัย
  5. ความหลากหลาย: โลกดิจิทัลมีทุกอย่างให้เลือกสรร ไม่ว่าจะมีความชอบ รสนิยมแบบใด ก็จะมีแหล่งข้อมูล หรือชุมชนออนไลน์ที่พร้อมให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้เสมอ มีเกม แอปพลิเคชัน และโซเชียลมีเดียมากมาย ตอบสนองความสนใจที่หลากหลาย หรือกระทั่งเบื่อจากเรื่องหนึ่งก็สามารถกระโดดไปสนใจเล่นเรื่องอื่นได้ในคลิกเดียว
  6. การขาดการควบคุม: ความยับยั่งชั่งใจอาจน้อยลงหากคนๆนั้น ลืมว่าใช้เวลาไปแล้วเท่าใด บางคนไม่มีวินัยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นำไปสู่พฤติกรรมการเสพติดดิจิทัล
  7. ปัญหาสุขภาพจิต: บางคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล พื้นที่ดิจิทัลจึงเป็นอีกโลกหนึ่งที่สามารถเข้าไปใช้เวลาได้โดยที่ให้ความรู้สึกิสระ ปลอดภัย และมีสื่อความบันเทิง สิ่งชุบชูจิตใจมากมาย 

สัญญาณเตือน การเสพติดดิจิทัล 

  • รู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด หรือวิตกกังวลเมื่อไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
  • ใช้เวลากับเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต
  • ละเลยงาน หน้าที่ หรือความรับผิดชอบอื่นๆ
  • โกหกหรือปกปิดคนอื่นเกี่ยวกับจำนวนเวลาที่ใช้กับเทคโนโลยีดิจิทัล
  • มีปัญหาในการนอนหลับ
  • รู้สึกซึมเศร้า หรือวิตกกังวล
  • มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  • ผลกระทบ ของการเสพติดดิจิทัล

ผลกระทบของการเสพติดดิจิทัล 

การเสพติดดิจิทัลมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราในหลายด้าน ซึ่งสามารถกำหนดได้ดังนี้

ด้านความสัมพันธ์:

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เราพลาดโอกาสในการสื่อสารและสัมผัสกับคนรอบข้าง เช่น การมีเวลาที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือเพื่อพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน รวมถึงปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นกำแพงกั้น เพราะการยกโทรศัพท์ขึ้นมาเลื่อนหน้าจอดูโซเชียล เปรียบได้กับการเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัว แต่บุคคลรอบข้างอาจไม่ต้องการรบกวนเวลาเหล่านั้น นำมาซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ที่ลดลง แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

ด้านสุขภาพ:

การเสพติดดิจิทัลอาจส่งผลต่อสุขภาพทางกายและจิตใจของเรา การใช้เวลานานในการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลอาจทำให้เราสูญเสียการออกกำลังกาย นอนไม่หลับหรือมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะวิตกกังวลเนื่องจากสมองของเรารับข้อมูลในปริมาณมหาศาลจากสื่อโซเชียลมีเดีย สมองจะทำงานหนักกว่าปกติเพื่อจัดการข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่เราตั้งสมาธิหรือนอนหลับ บ่อยครั้งที่อาการนอนไม่หลับวิตกกังวลมาจากการรับข้อมูลจากสื่อมากเกินไป

ด้านการทำงาน:

การเสพติดดิจิทัลอาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะสมาธิและความสามารถในการจดจ่อจะลดลงซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของงาน การทำงานออนไลน์ตลอดเวลายังส่งผลเสียต่อดวงตา ทำให้เกิดอาการตาล้ารวมถึงกลุ่มอาการออฟฟิสซินโดรมอื่นๆอีกด้วย และอาจทำให้เราไม่สามารถสร้างสมดุลชีวิตระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม


แนวทางการป้องกัน การเสพติดดิจิทัล

เพื่อป้องกันการเสพติดดิจิทัลและสร้างสมดุลชีวิต คุณสามารถทำได้โดย

  1. กำหนดเวลาในการใช้งาน: กำหนดเวลาที่จะใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลในแต่ละวัน เช่น กำหนดเวลาในการใช้โทรศัพท์มือถือหรือการเล่นวิดีโอเกม
  2. สร้างกิจกรรมที่ไม่ใช่ดิจิทัล: สร้างกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น การอ่านหนังสือ การออกกำลังกาย หรือการเพื่อนร่วมงาน
  3. ตั้งค่าการแจ้งเตือน: ตั้งค่าการแจ้งเตือนในอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อให้คุณสามารถควบคุมเวลาที่ใช้ในการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. พักผ่อนและฟื้นฟู: ให้เวลาตัวเองให้เพียงพอเพื่อพักผ่อนและฟื้นฟูจากการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล

เรียนรู้ทักษะการใช้งานดิจิทัลอย่างสมดุล คลิก Digital Use ทักษะสร้างสมดุลชีวิตดิจิทัล

สรุป

การเสพติดดิจิทัลอาจเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราควรระมัดระวังและกำหนดเวลาในการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลชีวิตในโลกดิจิทัลที่สมดุลและมีความสุข

อ้างอิง

คู่มือคนไทย GO Cyber https://www.thaipdf.com/2153-thai-cyber-go-handbook-youth-edition/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save