เคยไหมที่รู้สึกไม่ค่อยมีสมาธิ ช่วงเวลาที่จดจ่อได้น้อยลง แม้แต่ตอนหลับตานอนก็ยังรู้สึกว่าความคิดวิ่งวนไม่ยอมหยุด บ่อยครั้งไม่รู้คิดอะไร แต่ที่แน่ ๆ มันทำให้รู้สึกเหนื่อย ไม่อยากเรียน ไม่อยากทำงาน รู้สึกอย่างนี้ทีไรก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดดูโซเชียลเสียหน่อย ดูได้ไม่นานก็ปิดทิ้งแล้วอาการทั้งหมดก็วนซ้ำอีกครั้ง วนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ใครเคยมีอาการแบบนี้ ยกมือขึ้น!!! ข่าวดีคือคุณไม่ใช่คนเดียวที่มีอาการแบบนี้มีคนอีกมากที่มีประสบการณ์เดียวกัน แต่ข่าวร้ายคือการลดอาการเหล่านี้นั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะในยุคที่โลกขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีที่คุณไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาการที่เราพูดถึงอยู่นี้คือส่วนหนึ่งของการทำงานของสมอง
สมองคือเครื่องประมวลผลข้อมูลที่ทรงพลังที่สุดในโลก มันทำงานตลอดเวลาแม้ในยามที่เราหลับลึกที่สุดสมองก็ยังคงทำงานอยู่ ตั้งแต่ลืมตาตื่นมันประมวลผลที่มาจากประสาทสัมผัสรวมถึงความคิดของเราเพื่อทำกิจวัตรได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ และการตัดสินใจในการทำงาน แต่หากข้อมูลที่เรารับเข้ามามีจำนวนมากเกินไป ก็ไม่แปลกที่สมองจะเหนื่อยล้าและนำมาซึ่งอาการข้างต้น
- ข้อมูลตกค้างในสมอง- สมอง จิตใจ อารมณ์เป็นระบบที่ต้องการการทำงานแบบมีที่สิ้นสุด หมายความว่าหากต้องคิดวิเคราะห์ หรือรู้สึกอะไร จะมีปลายทางที่สมองจะประมวลผลและหาข้อสรุปให้กับเราเพื่อให้สภาวะการคิดและอารมณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ
แต่ในยุคข้อมูลล้นทะลักที่เราเอามาใส่ในสมองเราทุก ๆ วัน หรือเพียงแค่การปัดไถหน้าจอโทรศัพท์ 5 นาทีก็มีข้อมูลข่าวสารไม่รู้เท่าไหร่ให้สมองประมวลผล บางข่าวยังไม่ทันได้คิด หรือรู้สึกร่วมนิ้วก็ปัดผ่านไป จริงอยู่ที่ความสนใจเราเปลี่ยนไปแต่ข้อมูลนั้นยังตกค้างในสมอง เมื่อมากเข้ามันแสดงออกมาในรูปของสมาธิสั้นลง จดจ่อได้น้อยลง
คงเปรียบได้กับข้อมูลแคช (Cache) ในเครื่องโทรศัพท์ที่เราไม่ได้ใช้แต่เครื่องก็ยังคงเก็บไว้ หรือในที่นี้คือสมองที่เก็บข้อมูลต่างๆที่ไม่ได้ใช้เอาไว้จนรบกวนการทำงานหลัก ทำให้เราคิดอืด คิดช้าไม่ต่างจากโทรศัพท์ที่หน่วยความจำเต็ม
- ข้อมูลล้น-สมองล้า ผลกระทบซ้ำสองเมื่อข้อมูลล้น ความจุเต็ม เบียดบังพื้นที่ความคิดการทำงาน ข้อมูลที่ไม่ได้เคลียร์ออกในสมองยังส่งผลต่อการทำงานที่หนักขึ้นอีกด้วย ไม่แปลกหากวันไหนดูข่าวชวนเครียดเยอะๆ วันนั้นจะรู้สึกเหนื่อยผิดปกตินั่นเอง
- บริหารข้อมูลที่จะรับ– เช่นเดียวกับทุกๆเรื่อง ที่รับมากไปก็ไม่ดี ข้อมูลที่เป็นอาหารสมองมากไปก็ไม่ดีเช่นกัน รวมถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพสมองก็ควรคัดสรรให้ดีด้วย เราทราบกันดีว่าข่าวที่ชวนหดหู่ หรือกระตุ้นอารมณ์โกรธเคืองทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้เราคิดวนซ้ำ ๆ บางครั้งก็ไปถึงการนอนไม่หลับ จะดีกว่าไหมถ้าเลือกรับข่าวสารที่ดีต่อสมอง หรือในทางหนึ่งสามารถเลือกปรับพฤติกรรมลดปริมาณการบริโภคข่าวสาร ลดการเล่นโซเชียลลงในแต่ละวัน เพียงเท่านี้อจเห็นผลได้ว่าสิ่งรบกวนความคิดจะลดลง
มีงานวิจัยมากมายสนับสนุนเรื่องการหาสมดุลในโลกดิจิทัล คงไม่มีคำแนะนำใดได้ผลหากไม่ลองปฎิบัติจริง อาจไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนขนาดว่าจับมือทำ แต่เช่นเดียวกับอาหารที่ทุกคนต้องหาสัดส่วนที่ลงตัวกับตัวเองว่าควรจัดสรรบริหารการเสพเนื้อหาออนไลน์อย่างไรไม่ให้เหนื่อยสมอง
ถ้าไม่เชื่อ? ลองดูซิครับ… 😉
ทักษะความฉลาดทางดิจิทัลคืออะไร และมีอะไรบ้าง เรียนรู้ได้เลยที่นี่ 8 ทักษะพลเมืองดิจิทัล
เรียนรู้เรื่องทักษะพลเมืองดิจิทัลเพิ่มเติมได้ที่
– Website : www.think-digital.app
– Facebook : Think-Digital เรียนวิธีคิด ผ่านความฉลาดทางดิจิทัล